CTงานวิจัย ว่ายน้ำในสระคลอรีน เสี่ยงเป็นมะเร็งได้

บอกข่าวเล่าความ

ว่ายน้ำในสระคลอรีน เสี่ยงเป็นมะเร็งได้

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 16 ก.ย. 2553

            ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อม (Centre of Research in Environmental Epidemiology : CREAL) และสถาบันวิจัย โรงพยาบาล เดล มาร์ (Research Institute Hospital del Mar) ในประเทศสเปน ได้รายงานผลการศึกษาผลต่อสุขภาพของน้ำในสระว่ายน้ำที่ใส่สารฆ่าเชื้อโรคในวารสารอีเอชพี (Environmental Health Perspectives : EHP) ฉบับเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา
       
            ในรายงานระบุว่า การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรีน อาจชักนำให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อยีน (genotoxicity) ซึ่งเป็นผลให้ดีเอ็นเอถูกทำลายและอาจกลายเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งได้เท่ากับการหายใจเข้าไป ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาถึงสารตกค้างจากการฆ่าเชื้อโรค หรือดีบีพี (disinfection by-products : DBPs) ในสระว่ายน้ำอย่างครอบคลุม และเป็นครั้งแรกที่ศึกษาถึงภาวะความเป็นพิษต่อยีนของนักว่ายน้ำที่ได้รับสารเคมีนี้จากการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่ใส่คลอรีนด้วยดังที่ระบุในไซน์เดลี
       
            ดีบีพีที่พบในน้ำจากสระว่ายน้ำนั้นเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างสารฆ่าเชื้อโรค เช่น คลอรีน กับอินทรีย์วัตถุ (organic matter) ทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือมาจากผู้ที่ลงไปว่ายน้ำ อาทิ เหงื่อ เซลล์ผิวหนัง และน้ำปัสสาวะ ซึ่งการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาก่อนหน้านี้พบว่าความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะสัมพันธ์กับการได้รับดีบีพีในน้ำดื่ม และอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าความสัมพันธ์นี้นั้นยังรวมไปถึงการได้รับสารดีบีพีเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังหรือหายใจเข้าไปด้วย เช่น ในระหว่างอาบน้ำฝักบัว นอนแช่ในอ่างน้ำ หรือการว่ายน้ำ
       
            ส่วนในรายงานการศึกษาล่าสุดนั้นทีมวิจัยได้ศึกษาหาปริมาณของดีบีพีและการก่อการกลายพันธุ์ (mutagenicity) ในตัวอย่างน้ำจากสระว่ายน้ำในร่ม 2 แห่ง แห่งหนึ่งใช้คลอรีนเป็นสารฆ่าเชื้อโรค และอีกแห่งหนึ่งใช้โบรมีนแทน พร้อมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นของตัวบ่งชี้การก่อกลายพันธุ์และผลจากการหายใจเอาสารนี้เข้าไป โดยศึกษาในผู้ที่ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการศึกษาที่รวมการพิสูจน์ฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ของน้ำในสระว่ายน้ำ ลักษณะของสารเคมีในน้ำ และผลกระทบเมื่อเข้าสู่ร่างกายคนเราเข้ามาด้วยกัน
       
            ทีมวิจัยพบหลักฐานที่แสดงถึงการเกิดความเป็นพิษต่อยีนในผู้คนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 49 คน หลังจากพวกเขาว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนเป็นเวลา 40 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิจัยพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) 2 ชนิด ที่บอกให้รู้ว่ามีความเป็นพิษต่อยีนเกิดขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความเข้มข้นของดีบีพีชนิดที่พบทั่วไปในลมหายใจออกของผู้ที่ว่ายน้ำ
       
            โดยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นนั้นชนิดหนึ่งเป็นไมโครนิวคลีไอ (micronuclei, ส่วนของโครโมโซมที่ขาดมารวมตัวกันเกิดเป็นนิวเคลียสเล็กๆ อยู่ในไซโทพลาสซึม) ในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงได้ ส่วนอีกชนิเป็นสารที่มีฤทธิ์การก่อการกลายพันธุ์ในปัสสาวะ ซึ่งแสดงการถึงการได้รับสารที่ก่อความเป็นพิษต่อยีน
       
            ทีมวิจัยยังได้วัดปริมาณสารดีบีพีพวกไตรฮาโลมีเทน (trihalomethanes) ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศบริเวณรอบๆ สระว่ายน้ำ และที่อยู่ในลมหายใจออกของผู้ที่ว่ายน้ำทั้งก่อนและหลังว่ายน้ำด้วย โดยการวัดปริมาณของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหลายชนิดในลมหายใจของอาสาสมัครกลุ่มตัวอย่างหลังจากว่ายน้ำแล้ว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพียงตัวเดียว คือ ซีรัม ซีซี16 (serum CC16) ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็บ่งชี้ว่าสารดีบีพีมีการซึมผ่านเยื่อบุผิวปอดของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำนั้นทำให้ผู้ที่ว่ายน้ำได้รับดีบีพีเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง
       
            นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถแยกสารดีบีพีจากน้ำในสระว่ายน้ำตัวอย่างได้มากกว่า 100 ชนิด ซึ่งบางชนิดยังไม่เคยมีรายงานว่ามีอยู่ในสระว่ายน้ำหรือในน้ำดื่มที่ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนมาก่อนด้วย และจากการวิเคราะห์ในหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่าน้ำจากสระว่ายน้ำตัวอย่างมีฤทธิ์ก่อการกลายพันธุ์ในระดับใกล้เคียงกับน้ำดื่มที่ฆ่าเชื้อด้วยวิธีดังกล่าว แต่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มากกว่า
       
            อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาผลที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ซึ่งทีมวิจัยจะทำการศึกษาต่อไปถึงผลระยะยาวที่เกิดจากการได้รับสารดีบีพีจากการว่ายน้ำในสระที่ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน รวมถึงเสนอให้มีวิจัยที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อจัดอันดับสระว่ายน้ำภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ในการบำรุงรักษาและการใช้งาน รวมทั้งประเมินผลกระทบจากการได้รับสารชนิดต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสระว่ายน้ำด้วย
       
            มาโนลิส โกเกบีนาส (Manolis Kogevinas) นักวิจัยจากศูนย์วิจัยระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อม ระบุว่าผลการศึกษานี้ได้ได้มีเจตนาทำให้ผู้คนเลิกที่จะว่ายน้ำในสระว่าย โดยเราสามารถทำให้การว่ายน้ำในสระส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้นโดยลดปริมาณการใช้สารเคมีฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำ
       
            ไม่มีกรณีไหนที่เราต้องการหยุดให้มีการว่ายน้ำ แต่เราต้องการผลักดันให้ลดการใส่สารเคมีลงในสระว่ายน้ำต่างหาก โกเกบีนาส กล่าวในเอเอฟพี และระบุด้วยว่า การลดการใส่สารฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำนั้นสามารถช่วยได้ หากทุกคนที่มาว่ายน้ำในสระสาธารณะได้ล้างตัวก่อนลงสระ สวมหมวกว่ายน้ำ และไม่ถ่ายปัสสะวะลงในสระน้ำ

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 16 กันยายน 2553

Visitors: 178,813