ข้อดี ข้อเสีย ของการใช้ชีวิตวัยเกษียณในต่างจังหวัด



เชื่อว่าหลายๆ คนมีความคิดคล้ายๆ กัน คือพอเกษียณแล้วจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดต่างจังหวัด หรือจะไปสร้างบ้านอยู่แถวชนบท ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย หนีจากความเครียดและความวุ่นวายในเมืองใหญ่ บางคนก็คิดจะทำไร่ทำสวน ตามความคิดที่ว่านั่นคือสิ่งที่คนชนบททำกัน

แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกันก่อนว่า ช่วงระยะเวลาของวัยเกษียณ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัย ซึ่งแต่ละช่วงวัยจะส่งผลต่อการประเมินกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามสุขภาพและอายุได้ คิดง่ายๆ ว่า คนอายุ 65 กับอายุ 75 แม้จะห่างกันแค่ 10 ปี แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความไหวของร่างกาย ถือว่าต่างกันมากเลยล่ะ โดยทั้ง 3 ช่วงวัย แบ่งได้ดังนี้

1. วัยเริ่มต้นเกษียณ
คนในกลุ่มนี้มีอายุ 60-69 ปี เป็นวัยที่ยังมีพลัง ทำอะไรได้พอๆ กับช่วงก่อนเกษียณ คนที่มีธุรกิจส่วนตัวหรือมีอาชีพอิสระอาจไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของก่อนและหลังเกษียณมากนัก เพราะยังสามารถทำงานไปได้เรื่อยๆ ส่วนบางคนที่เลิกทำงานแล้ว เช่น มนุษย์เงินเดือน ผู้รับราชการ ก็อาจไปทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน

แต่ด้วยพลังที่ล้นเหลือ ไอเดียที่ยังพลุ่งพล่าน วัยนี้ต้องระวังการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นกับการท่องเที่ยว หรือกระทั่งการลงทุนทำสวน เพราะอาจลืมศึกษาเรื่องของงบประมาณ การวางแผน ความเป็นไปได้ ความสามารถของตน กำลังกาย และอาจทำให้ส่งผลเสียต่อการเงินในระยะยาวได้

2. วัยเกษียณจริง
คนวัยนี้มีอายุ 70-79 ปี ร่างกายจะเริ่มไม่ค่อยไหว นั่งก็โอย ลุกก็โอย ค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นเพราะมีปัญหาสุขภาพตามอายุขัย ความสามารถในการใช้ชีวิตลดลง ไม่ว่าแต่ก่อนจะทำงานอะไรมา พอถึงจุดนี้แล้ว จะใช้ชีวิตคล้ายๆ กัน

3. วัยเกษียณบั้นปลาย
สำหรับผู้ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป ถือว่าอยู่ในช่วงชราภาพ ด้วยความที่สภาพร่างกายไม่ค่อยไหวแล้ว เวลาจึงมีเยอะเหลือเฟือ จะทำอะไรก็ต้องมีคนคอยดูแล และช่วงนี้จะต้องใช้จ่ายด้านสุขภาพเกือบทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมถึงตรงนี้ให้ดี

ใช้ชีวิตวัยเกษียณต่างจังหวัด ดีจริงหรือ?

เหตุผลหลักๆ ที่คนอยากไปใช้ชีวิตยามเกษียณต่างจังหวัด ก็เพราะอยากหนีจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่ อยากมีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ หรืออะไรทำนองนั้น แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อดีและข้อเสียของมัน เรามาดูกันดีกว่าว่า สำหรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณ มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

ข้อดี

1. อากาศดี สงบ
อย่างที่พูดถึงกันไปข้างต้นว่า นี่คือข้อดีที่หลายๆ คนนึกถึงเมื่อพูดถึงการใช้ชีวิตในต่างจังหวัด เพราะมลพิษน้อย อากาศจึงดีกว่า จึงส่งผลดีกับร่างกายและจิตใจในระยะยาวมากกว่า นอกจากนี้ เพราะความสงบ ไม่วุ่นวายและเร่งรีบ จะทำให้เครียดน้อย ได้ผ่อนคลายมากขึ้น


2. ค่าครองชีพต่ำ


ค่าครองชีพในต่างจังหวัดจะต่ำกว่าในเมืองใหญ่พอสมควร ทั้งเรื่องของอาหารการกิน ของใช้ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ คือ ประหยัดเงินได้เยอะกว่าอยู่ในเมืองสุดๆ แทบจะครึ่งๆ กันเลยทีเดียว

ข้อเสีย

1. ห่างไกลลูกหลาน
เนื่องด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่เมืองใหญ่เป็นแหล่งของสถานศึกษาและการงานที่ค่อนข้างดี ดังนั้น ถ้าจะใช้ชีวิตต่างจังหวัด อาจจะทำให้ต้องอยู่ไกลจากลูกหลานหรือญาติพี่น้อง ไม่มีคนมาคอยดูแลหรืออยู่เป็นเพื่อน และเพราะต้องห่างจากสังคมเพื่อนเดิมๆ อาจทำให้เหงาได้ เพราะไกลกัน

ทั้งนี้ นี่อาจเป็นสิ่งตรงกันข้าม คือเป็นข้อดีได้ หากเราตัดสินใจอยู่ต่างจังหวัด ที่ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด หรือใกล้ครอบครัวญาติมิตรอยู่แล้ว

2. สิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่า
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากเราเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา แล้วบ้านอยู่กลางป่ากลางเขาในต่างจังหวัด กว่าจะได้รับการรักษาพยาบาล อาจต้องใช้เวลานานและไม่สะดวกนัก และเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงบุคลากร อาจไม่พร้อมเท่าในเมืองใหญ่

จะเห็นได้ว่า ข้อดีข้อเสียมีพอๆ กันเลย อยู่ที่ว่าใจเราพร้อมที่จะเผชิญกับอะไรมากกว่า และแบบไหนจะเหมาะกับแนวทางการใช้ชีวิตของเรา โดยให้พิจารณาจากหลักความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ความฝัน เพราะคนเราย่อมอยากมีความสุขในบั้นปลายชีวิต จริงไหมล่ะคะ

ก่อนจากกันไปวันนี้ เรามีข้อคิดสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ และผู้ที่อาจกำลังเกษียณอายุในเร็วๆ นี้ด้วยค่ะ

1. ระมัดระวังการให้เงินลูกหลาน หรือให้ผู้อื่นยืมเงิน ต้องระวังไม่ให้กระทบกับเงินที่เราต้องใช้สำหรับวัยเกษียณ เนื่องจากวัยนี้ไม่ใช่วัยที่จะทำเงินได้เป็นจำนวนมากและเป็นประจำแล้ว

2. คนที่เข้าหาเรา กล่าวชื่นชมเราในเรื่องของความสำเร็จในอดีต อาจมีจุดประสงค์ที่จะเข้าใกล้เงินในกระเป๋าเราก็ได้ ฉะนั้นอย่าหลงคำเยินยอจนลืมตัวและโดนเขาหลอกเอาเงิน ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม

3. ความฝันที่จะทำสวนทำไร่หลังเกษียณ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำได้สำเร็จง่ายดาย หากอยากปลูกนั่นปลูกนี่กินเองนั่นคงไม่เป็นไร แต่หากคิดจะทำเป็นอาชีพใหม่ ขอให้ลองคิดดีๆ เพราะต้องลงทุนเยอะ ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์มาก เผลอๆ จะล่ม ขาดทุนไม่เป็นท่า

4. วางแผนการเงินให้ดีๆ เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะอยู่ได้นานขนาดไหน จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเรา ยิ่งแก่ตัวลงไป ยิ่งมีโอกาสที่โรคภัยจะปรากฏมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ต้องคิดเผื่อตรงนี้ด้วย

Visitors: 179,610