ผู้ป่วยรีวิวหมอโดยนักสร้างแรงบันดาลใจ
คนส่วนใหญ่ถูกสอนให้เชื่อหมอ จนไม่เชื่อตนเอง
ครอบครัวผมก็เช่นกัน ที่มักจะพูดว่า อย่าทำเป็นรู้มากเรื่องป่วยเพราะเราไม่ใช่หมอ
หมอรู้มากกว่าผมตรงไหน???
ผมยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรกว่า 10 ฉบับ ศึกษาหาวิธีที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ดีๆ ต้องอ่านข้อมูล ดูคลิป ทำทดสอบแล้วทดสอบเล่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้มเหลว ดูอย่างเตาเผาไร้ควันสิ 13 แบบ ถึงจะผ่านขั้นตอนแรก แต่ผมก็ไม่เคยยอมแพ้ ดูอย่างสาวคนนี้สิ
เธอเกิดที่ปากช่อง เมื่ออายุหนึ่งสัปดาห์ พ่อแม่นำเธอไปทิ้งไว้ที่วัดแห่งหนึ่ง ผ้าห่อหุ้มร่างน้อยเห็นแต่ใบหน้า
เมื่อพระเปิดผ้าที่หุ้มเธอออก ก็พบว่าทารกหญิงไม่มีขาทั้งสองข้าง
ทารกเกิดมาไม่ครบสามสิบสอง พ่อแม่จึงนำเธอไปทิ้ง
พระในวัดช่วยเลี้ยงทารกจนสองขวบ แล้วส่งต่อให้โรงพยาบาลที่กรุงเทพฯดูแล ระหว่างที่พยายามหาครอบครัวให้เด็ก สามีภรรยาชราคู่หนึ่งซึ่งเธอเรียกว่าปู่กับย่าเลี้ยงเธอ จนเมื่ออายุได้ห้าขวบ ก็มีชาวอเมริกันคู่หนึ่งรับเธอเป็นลูกบุญธรรม พาไปที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
นี่คือบทที่หนึ่งของชีวิต กันยา เซสเซอร์
สำหรับคนอื่น ๆ ที่เกิดในสภาพพิการและถูกทอดทิ้ง นี่ย่อมเป็นคำสาป แต่สำหรับเธอ ความไม่สมประกอบเป็นเพียงข้อแม้ข้อหนึ่งของชีวิต
โชคดีที่ใต้เงามืด เธอมองโลกในด้านดี สดใส
หลายปีให้หลัง กันยาเขียนว่า “ตั้งแต่เล็ก วิธีที่ฉันจัดการกับชีวิตคืออยู่โดยปราศจากข้อจำกัด และไม่กลัวที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ฉันไม่อาจทำได้จริง ๆ ก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หยุดฉันให้ลองพยายามทำ และหาทางทำในหนทางของฉันเอง”
เธอใช้ชีวิตเกินศักยภาพของเธอไปหลายเท่า
เด็กหญิงไร้ขาชอบเดินทางไปไหนมาไหนด้วยสเกตบอร์ดมากกว่ารถเข็น และพยายามเดินด้วยสองมือ
กันยาชอบเล่นกีฬา ตั้งแต่เล็กเธอหัดเล่นสเกตบอร์ด ว่ายน้ำ กระดานโต้คลื่น โมโนสกี เทนนิส รักบี้รถเข็น บาสเกตบอลรถเข็น แข่งรถเข็นคนพิการ เบรก แดนซ์ ฯลฯ และเล่นได้ดี
เธอเข้าแข่งรถเข็นคนพิการ 100, 200 และ 400 เมตรที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอะริโซนาที่เธอเรียน
ไร้ขามิใช่ไร้ข้อจำกัด!
นี่คือบทที่สองของชีวิต กันยา เซสเซอร์
.................
ตอนอายุสิบห้า กันยาก็ก้าวไปอีกขั้น เธอเริ่มถ่ายแบบให้สินค้ากีฬา หลังจากนั้นก็ได้รับการทาบทามให้ถ่ายชุดชั้นในและเสื้อผ้า
ภาพถ่ายชุดชั้นใน เสื้อผ้า เครื่องกีฬาของเธอ ซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ สร้างความสนใจแก่คนทั้งโลก มันเปลี่ยนภาพลักษณ์ของวงการแฟชั่นไปตลอดกาล ทันใดนั้นภาพของเธอก็ปรากฏในนิตยสารต่าง ๆ ทั่วโลก
เธอบอกว่าการถ่ายภาพสินค้าและชุดชั้นในสตรี “อนุญาตให้ฉันเปลี่ยนกรอบคิดของคนทั่วไปเกี่ยวกับความพิการ”
โลกของนางแบบยังขาดความหลากหลายอย่างมาก ทั้งเชื้อชาติ สีผิว อายุ ส่วนใหญ่เป็นแบบเดียวกันหมด
“ฉันชอบแสดงตัวตนของฉันในทางที่แตกต่างจากที่คนอื่นปกติมอง นี่คือฉัน”
การเป็นนางแบบที่ไม่เหมือนคนที่มีร่างกายครบสามสิบสอง ย่อมสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้วงการ มันเป็นการจุดกระแสอย่างหนึ่งว่า คนพิการก็ทำได้ทุกอย่างเหมือนคนปกติ
ไร้ขามิได้ไร้ความสวย
เธอบอกว่า “มีคนไม่มากนักมั่นใจที่จะพบความจริงว่า ตัวตนภายในของคุณแข็งแกร่งแค่ไหน คนส่วนมากปิดกั้นตัวเองเพราะสังคมทำให้พวกเขารู้สึกประหลาดในสถานการณ์ที่พวกเขาอยู่ คุณต้องสร้างทางที่แตกต่างสำหรับคุณเอง เพราะไม่มีใครทำมันเพื่อคุณ”
กันยาพิสูจน์ว่าความสวยงามไม่จำเป็นต้องมาจากร่างกายที่สมบูรณ์เสมอไป มันอาจมาจากความแข็งแรง การสู้ชีวิต จิตใจที่มั่นคง ความมั่นใจในตัวเอง
กันยากำลังบอกคนทั้งหลายด้วยการกระทำว่า มาตรฐานของความสวยแบบเดิมนั้นไม่สมจริง อย่าให้มาตรฐานของสังคมเป็นสิ่งกำหนดตัวตนที่แท้จริงของเรา
เธอไม่คิดจะยึดอาชีพนางแบบ เธอทำเพราะรู้สึกสนุก เธอบอกว่า “มันเล่าเรื่องของฉันว่า ฉันแตกต่าง และนั่นก็คือเซ็กซี่ ฉันไม่ต้องมีขาเพื่อรู้สึกเซ็กซี่”
เธอฝึกหนักเพื่อหวังจะได้ร่วมทีมชาติสหรัฐฯ เข้าแข่งขันโมโนสกี พาราลิมปิก ปี 2018 ที่เกาหลี
“ชีวิตมีค่า และเรามีชั่วขณะนี้เท่านั้น ชีวิตเดียว ไร้ขา ไร้ขีดจำกัด”
นี่คือบทที่สามของชีวิตของ กันยา เซสเซอร์
...................
บทที่สี่ของชีวิตเธอคือก้าวเข้าไปในโลกภาพยนตร์ ในวัยสิบห้า เธอเข้าสู่วงการแสดง เป็นนักแสดงรับเชิญในหนังโทรทัศน์เรื่อง Code Black (2015)
ฮอลลีวูดมักใช้คนปกติเล่นบทคนพิการ โอกาสที่คนร่างกายพิการจะรับบทที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้คนพิการเล่นนั้นน้อยมาก
ในปี 2016 หนังโทรทัศน์ซีรีส์ Hawaii Five-0 ตอน He Moho Hou (S7 E3) เป็นเรื่องของตัวละครชื่อ Rosey Valera ผู้สูญเสียขาทั้งสองในสงคราม ผู้สร้างต้องการตัวละครที่พิการจริง ๆ
อีกครั้ง การปรากฏตัวของกันยาในหนังเปลี่ยนกรอบคิดในโลกภาพยนตร์
ชีวิตของกันยาทั้งชีวิตหลุดจากกรอบเดิมที่ขีดเส้นว่า คนไม่ครบสามสิบสองควรยอมรับชะตากรรม
เธอปฏิเสธความเชื่อนี้ เป็นตัวของตัวเอง ยอมรับข้อแม้ที่โลกประทานให้ แล้วเดินหน้าอย่างสง่างาม
“เมื่อฉันมองชีวิต มันไม่มีความพิการ ฉันไม่เห็นว่านั่นคือความพิการ เพราะแม้ว่าฉันไม่มีขาทั้งสองข้าง ไม่มีอะไรที่ฉันทำไม่ได้ ฉันโชคดีที่มีสิ่งที่ฉันมี และนั่นก็คือทั้งหมดที่สำคัญ”
เธอเกิดมาไม่ครบสามสิบสอง แต่เธอใช้ชีวิตมากกว่าสามสิบสองหลายเท่า
..................เรื่องชีวิตของ กันยา เซสเซอร์ ที่โพสต์ในตอนเช้า ทำให้หลายคนตั้งคำถามหนึ่ง
เกิดอะไรขึ้นหากฝรั่งไม่รับเธอไปเลี้ยง?
แน่นอนเป็นไปได้สูงว่าเธอจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างคนขอทานหรืออนาถา
หรืออาจไม่ใช่ เพราะมนุษย์บางประเภทเกิดมาเป็นนักสู้
ก่อนอื่นต้องยกย่องฝรั่งซึ่งรับเลี้ยงเด็กพิการว่ามีจิตใจสูงมาก นี่คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แบบเสียสละจริงๆ ไม่หวังผลตอบแทน ถามจริงๆ จะมีใครกี่คนที่ทำอย่างนี้ได้
ผมเชื่อว่าพวกเขาก็คงคาดไม่ถึงว่าเด็กจะไปไกลขนาดนี้
ชีวิตวันนี้ของ กันยา เซสเซอร์ เป็นผลรวมของเหตุและปัจจัยหลายอย่าง ต่อให้เราจะเรียกมันตามสำนวนจีนว่า "วาสนาในคราเคราะห์" เด็กก็ต้องสู้จริงๆ จึงมาถึงขั้นนี้ได้
ไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง
นี่ทำให้รู้สึกว่าโลกยังไม่มืดมนเกินไป
คนใจสูงนั้นมีจริง คนใจสู้ก็มีจริง
มองไปรอบตัว มีคนครบสามสิบสองจำนวนมากมายที่ใช้ชีวิตอย่างคนขอทานและอนาถา แบมือขอทุกอย่าง
เห็นภาพเธอแล้ว เราๆ ที่มีมือไม้ครบถ้วนก็ไม่มีสิทธิ์บ่นสักคำเดียวจริงๆ
(ภาพจาก VoyageLA)
จากหนังสือใหม่ล่าสุด มากกว่าสามสิบสอง
วินทร์ เลียววาริณ