ผิงผิงปลูกป่าในทะเลทราย
ลึกชัดกับผิงผิง
#สังคม #จีน
หญิงชาวนาปลูกต้นไม้ในทะเลทราย สร้างรายได้ปีละกว่าล้านหยวน
ปี 1985 อิน อวี้เจิน (殷玉珍) อายุ 19 ปี แต่งงานกับนายไป๋ ว่านเสียงชาวนาคนหนึ่งในหมู่บ้านจิ่งเป้ย อำเภออูเสิ่นเมืองเอ้อเอ่อตัวเซอ เขตปกครองตนเองมองโกเลียในภาคเหนือของจีน
อิน อวี้เจินเองเป็นชาวนาของอำเภอจิ้นเปียน มณฑลส่านซีภาคตะวันตกของจีน ที่บ้านยากจน แต่เมื่อไปถึงบ้านของสามี เธอคิดอยากตาย เพราะหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ในทะเลทราย “เหมาอูซู่” ที่เป็น 1 ใน 4 ทะเลทรายใหญ่ที่สุดของจีน
สิ่งที่ยิ่งแย่คือ บ้านที่เธอแต่งงานไปอยู่ด้วยนั้นเป็นห้องใต้ดินที่มีครึ่งหนึ่งอยู่ใต้ทะเลทราย ออกจากบ้านก็คือทะเลทรายที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด สามีของเธออาศัยในทะเลทรายเป็นเวลานาน เป็นคนซื่อสัตย์ ไม่ค่อยพูดจา และเกือบไม่ได้สัมผัสกับสังคมภายนอก
อิน อวี้เจินสิ้นหวัง เคยคิดจะฆ่าตัวตายในทะเลทราย แต่ที่บ้านเกิดยังมีคุณแม่และน้องชาย จึงเลิกความคิดนี้ในที่สุด และเคยเดินทางจากบ้านไปไกล แต่สุดท้ายคิดถึงสามี ก็เลยต้องกลับมา
คุณพ่อของอิน อวี้เจินได้รับรู้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของลูกสาว จึงพาสมาชิกครอบครัวเดินทางจากบ้านเกิดไปช่วยลูกสาวสร้างบ้านดินที่มี 3 ห้อง เพื่อให้ลูกสาวมีที่อยู่ดีขึ้น
อิน อวี้เจินยังได้เอาต้นกล้าไม้ 2 ต้นจากบ้านเกิดมาปลูกหน้าบ้าน ทำให้สิ่งแวดล้อมดูดีขึ้น แต่พายุทรายยังคงมาเรื่อยๆ
อิน อวี้เจินกล่าวว่า “เวลานั้นยากจนมาก ไม่มีข้าว มีแต่เอาข้าวโพดมาทำเป็นข้าวต้ม มีครั้งหนึ่งเกิดพายุลมแรง ทำให้หม้อต้มข้าวคว่ำ น้ำร้อนลวกเท้าของฉันด้วย ตั้งแต่เวลานั้น ฉันสาบานกับตัวเองว่า ฉันยอมปลูกต้นไม้จนเหนื่อยตายก็ได้ แต่จะไม่ปล่อยให้ทะเลทรายมารังแกฉันจนตาย”
ฤดูใบไม้ผลิปี 1986 คือปีที่สองหลังการแต่งงาน อิน อวี้เจินเอาของที่มีคุณค่าสูงสุดในบ้าน คือแกะที่มีเพียงตัวเดียว ไปแลกต้นกล้าไม้ 600 ต้น ปลูกต้นไม้รอบบ้าน แม้สุดท้ายรอดเพียง 10 ต้น แต่เธอกับสามีเห็นถึงความหวัง หลังจากนั้น “สงครามระหว่างคนกับทะเลทราย”ก็เริ่มขึ้น
อิน อวี้เจินกับสามีทุ่มเทรายได้ทั้งหมดในการปลูกต้นไม้ เมื่อสามีไปหางานทำต่างถิ่น เขามักจะบอกกับเจ้านายว่า ผมไม่เอาเงินเดือน แต่ขอแลกเปลี่ยนเป็นต้นกล้าไม้
แต่พอถึงฤดูใบไม้ร่วง เกิดพายุทรายรุนแรงครั้งหนึ่ง ต้นไม้หลายพันต้นที่พวกเขาพยายามปลูกนั้น ถูกถอนรากถอนโคลนโดยพายุ อิน อวี้เจินเสียใจร้องไห้หนัก แต่แล้วบอกว่า ฉันไม่ยอมแพ้ ฉันต้องเอาชนะ
ปี 1989 สามีอิน อวี้เจินไปทำงานต่างถิ่น ได้ข่าวว่า หมู่บ้านรอบข้างมีต้นกล้าจำนวน 50,000 ต้น ยังไม่มีคนไปซื้อ สามีภรรยายคู่นี้ตัดสินใจไปทำงานที่หมู่บ้านนั้นแบบไม่เอาเงินเดือน แต่จะเอาต้นกล้า แต่ละวัน พวกเขาต้องเดินทางข้ามทะเลทรายกว่า 10 กิโลเมตร สุดท้ายได้เอาต้นกล้า 50,000 ต้นกลับบ้านทั้งหมด
อิน อวี้เจินกับสามีพยายามเรียนรู้วิธีปลูกต้นไม้ในทะเลทราย มีประสบการณ์มากพอสมควร ทำให้ต้นไม้สีเขียวขยายวงออกไปเรื่อยๆ
ปี 1999 เรื่องราวการปลูกต้นไม้ของอิน อวี้เจินได้รับความสนใจจากชาวบ้าน ปีนั้น สามีภรรยาคู่นี้ได้ปลูกต้นไม้เกือน 15,000 ไร่แล้ว
หลังจากนั้น ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากทางการท้องถิ่นและบริษัทเทคโนโลยีในสังคม กิจการปลูกต้นไม้ของสามีภรรยาคู่นี้พัฒนาอย่างรวดเร็ว พื้นที่สีเขียวในทะเลทรายของครอบครัวนี้ขยายกว้างขึ้นเป็น 35,000 ไร่
อิน อวี้เจินกับสามียังได้เล่าเรื่องประสบการณ์ให้กับชาวนาในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวนาเหล่านี้ในการปลูกต้นไม้ ช่วยให้ครอบครัวชาวนาอีกกว่า 240 ครัวเรือนกลายเป็นเจ้าของสวนป่าที่มีการปลูกต้นไม้บนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่
แต่ก่อน อิน อวี้เจินสามารถเดินเท้าตรวจดูสภาพป่าของเธอได้หมด แต่ปัจจุบันเธอต้องขับรถไปตรวจดู เมื่อต้นไม้มากขึ้น น้ำฝนก็ตามมา ทำให้พื้นที่ปริเวณโดยรอบเหมาะสมที่จะปลูกธัญญาหาร
ปี 2022 อิน อวี้เจินนำข้าวฟ่างสายพันธุ์ใหม่มาปลูก ปรากฏว่า เมื่อโตขึ้นแล้ว รวงข้าวหนาและยาว เอาไปทำข้าวต้มหอมมาก ขายดีในตลาดราคาสูงด้วย กิโลหนึ่งประมาณ 90 หยวน
นอกจากนั้น อิน อวี้เจินยังได้ปลูกดอกกุหลาบทะเลทราย 15 ไร่ เธอคิดจะสร้างโรงงานทำชากุหลาบ ขนมกุหลาบและน้ำจิ้มกุหลาบ แนวคิดขยายกิจการของอิน อวี้เจินยังมีอีกมากมาย
ปัจจุบัน อิน อวี้เจินกับสามีสร้างรายได้กว่า 1 ล้านหยวน (ราว 5 ล้านบาท) จากการเพาะปลูกที่มีเอกลักษณ์ชนิดต่างๆ และการเลี้ยงสัตว์ แผนการของสามีภรรยาคู่นี้คือ ขยายพื้นที่ต้นไม้ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น และเลี้ยงสัตว์มากขึ้น มิเพียงแต่จะเพิ่มสีเขียวในทะเลทราย แต่ยังต้องได้กำไรได้ผลประโยชน์จากทะเลทรายด้วย อิน อวี้เจินบอกว่า ชีวิตนี้ฉันจะสู้กับทะเลทรายอย่างไม่หยุด
ขอให้อิน อวี้เจินกับสามีหลับฝันดี ผู้ที่ปรับเปลี่ยนชีวิตของตนด้วยการทำงานอย่างขยันขันแข็ง น่านับถือมาก ๆ
เรื่องราวแบบอิน อวี้เจินคงมีไม่น้อยในเขตภาคภาคเหนือและภาคตะวันตกของจีน เบื้องหลังนี้คือกระบวนการบำบัดทะเลทรายของจีน ที่ประสบผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด ผลสำเร็จเหล่านี้มาจากความขยัน กล้าสู้ของชาวบ้านชาวนาท้องถิ่น ความตั้งใจจริงของทางการและความช่วยเหลือจากบริษัทเทคโนโลยี ทั้งนี้ได้รับการชื่นชมยกย่องจากสหประชาชาติ และถือเป็นตัวอย่างสำหรับทั่วโลก