ฉี่กลางดึกวงการแพทย์ญี่ปุ่นเพิ่งค้นพบว่า ทำไมผู้สูงวัย มักตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อย

ฉี่กลางดึกวงการแพทย์ญี่ปุ่นเพิ่งค้นพบว่า ทำไมผู้สูงวัย มักตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน พร้อมแนะนำวิธีแก้ 

 

NHK on demand video แสดงเรื่องที่เกี่ยวกับ ส.ว. ทั้งหมด (เกิน 250 คน) แต่ที่ยังไม่เป็น ส.ว. รู้ไว้ก็ไม่เสียหลาย เพราะอนาคตเราก็จะได้เลื่อนขั้นขึ้นไปกันทุกคนอยู่แล้ว  

 

เรื่องที่ว่านั้นก็คือ ปัญหาของการที่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อยๆ (nocturia) เพื่อไปฉี่  

 

ได้มีการทำวิจัยเมื่อต้นปีนี้เอง (กุมภาพันธ์ -เมษายน) ควบคุมโดย Toromoto Kazumasa อาจารย์หมอทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะ (urologist) แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์นารา (Nara Medical University)  

 

เนื่องจากโควิดมา ผลการวิจัยนี้จึงเพิ่งจะเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้เอง  

 

การวิจัย ดำเนินการโดยให้ หนุ่ม Terakita เดินทางไปอยู่ที่บ้านคุณลุง Hayashi ทั้งวัน และทำกิจกรรมต่างๆเหมือนกัน โดยฉี่ให้หมดกระเพาะปัสสาวะ (bladder) ในตอนเช้า  จากนั้น ให้กินอาหารเหมือนกัน ดื่มน้ำเท่ากัน ออกกำลังกายเหมือนกัน แล้วฉี่ใส่ถ้วยตวง วัดปริมาณเปรียบเทียบกันดู  

 

@07:30 เริ่มกินข้าว เป็นอาหารญี่ปุ่น มีน้ำอยู่ในอาหาร 600 mL (คำนวณโดย Yamaguchi Chikage นักโภชนาการ ของ Nara Medical University Hospital) และดื่มน้ำชา 530 mL รวม 1,130 mL 

 

ตอนสาย เจ้าหนุ่ม ฉี่ไป 4 รอบ 300+400+300+100 mL ส่วนลุงฉี่แค่ 2 รอบ 100+110 mL  

 

@12:30 มื้อกลางวัน เป็นแซนวิช มีน้ำแค่ 140 mL และดื่มน้ำเปล่าอีกคนละ 380 mL  

 

ตอนบ่าย ออกกำลังกาย ไปทำสวนด้วยกัน เข้ามาในบ้าน เล่น VDO game ด้วยกัน (ลุงแกเล่นได้ด้วยแฮะ) 

 

ตอนบ่าย เจ้าหนุ่มฉี่อีก 3 ครั้ง 350+200+150 mL คุณลุงก็ฉี่ 3 ครั้งเหมือนกัน แต่ปริมาณน้อยกว่า 40+180+70 mL  

 

จนเย็น @18:30 ได้เวลาจากกัน หลังจากอยู่ด้วยกันมาทั้งวัน  

 

ค่ำคืนนั้น ก่อนเข้านอน เจ้าหนุ่มฉี่อีก 4 ครั้ง 320+150+ 180+150 mL แต่ลุงฉี่แค่ครั้งเดียว 180 mL  

 

หมอใช้ ultrasound ตรวจดูน้ำในกระเพาะปัสสาวะ -เกือบไม่มีทั้งคู่ ก่อนเข้านอนตอนเที่ยงคืน  

 

ในวันนั้น น้ำ เข้าไปร่างกาย คนละ 2,730 mL เท่าๆกัน แต่ลุงมีน้ำเหลืออยู่ในร่างกายเยอะมาก 

 

ผลก็คือ เจ้าหนุ่มหลับรวด ไม่ได้ตื่นขึ้นมาฉี่ แต่ลุงต้องตื่นไปฉี่ 3 รอบ 130+420+280 mL วันต่อมาจึงรู้สึกเพลีย  

 

การที่กลางวันง่วง และต้องงีบบ่อยๆ เพราะกลางคืนตื่นบ่อย (nocturia) เพื่อไปฉี่ เนื่องจากน้ำที่ดื่มระหว่างวันยังค้างอยู่ในร่างกาย (แต่น้ำนั้น ไม่ได้อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ !) 

 

เชื่อหรือไม่ว่า มีความลับในร่างกายของเราอย่างหนึ่ง ก็คือ คนเรามีกระเพาะปัสสาวะที่สอง (2nd bladder) !! 

 

ในเมื่อน้ำ ไม่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ แล้วมันไปเก็บอยู่ที่ไหน? 

 

ที่ตับ (liver) หรือเปล่า เพราะแอลกอฮอล์ก็ยังไปกำจัดที่ตับ น้ำก็น่าจะไปด้วย … ไม่ใช่  

 

ที่ไต (kidney) ใช่ไหม เพราะเป็นด่านแรก ที่น้ำจะต้องผ่าน ก่อนไปที่กระเพาะปัสสาวะ … ไม่ใช่อีก  

 

ที่เส้นเลือด (blood vessels) กระมัง เพราะในเลือดมีน้ำ อาจเก็บน้ำเพิ่มขึ้นได้ … ก็ไม่ใช่  

 

แม้แต่ลำไส้ (intestine) ที่น่าจะมีที่เก็บน้ำไว้ได้มากทีเดียว … ไม่ใช่เหมือนกัน  

 

เพราะคำตอบที่ถูกคือ - น่อง (calves) ครับ ! 

 

เพื่อเป็นการพิสูจน์ เจ้าหน้าที่ได้ทำการวัดรอบน่องของลุง Hayashi ตอนตื่นนอนและก่อนนอน พบว่า น่องโตขึ้นจริงๆ (ขวา 40.5 => 42.7 ซ้าย 41.5 => 45.7 cm)  

 

ทีมงาน ได้นำอุปกรณ์วัดทันสมัย ไปที่บ้านลุง Hayashi เพื่อวัดปริมาณน้ำในส่วนต่างๆของร่างกาย แล้ว plot มาเป็นกราฟ พบว่า ช่วงเช้า น้ำในลำตัวและแขน เกือบคงที่ แต่น้ำในขา จะค่อยพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ช่วงบ่าย น้ำในขาเกือบคงที่ แต่ในแขนและลำตัวค่อยๆลด ส่วนตอนค่ำ ก่อนนอน น้ำในลำตัวค่อยๆลด ในแขนคงที่ แต่ในขายังพุ่งขึ้นต่อ สุดท้ายก่อนเข้านอน น้ำในขาของลุง Hayashi มีมากกว่าตอนเช้าถึง หนึ่งลิตรครึ่ง !  

 

ทั้งนี้เพราะ ขาทั้งสองข้าง เป็นเหมือนแท็งค์น้ำ โดยน้ำจะแทรกอยู่ระหว่างกระดูกและผิวหนัง เรียกว่า “interstitium”  เมื่อไม่มีน้ำ จะแฟบ พอมีน้ำก็จะพองหนาขึ้น  

 

น่อง จึงเหมือนถังน้ำ เก็บไว้ฉี่ทิ้งภายหลัง และนั่นเป็นสาเหตุที่ต้องตื่นขึ้นมาฉี่บ่อย  

 

คุณหมอ Sone Atsushi Director, Miyazu Takeda Hospital ยืนยันว่า มีคนไข้เป็นอย่างนี้หลายคน  

 

มีคำอธิบาย เขียนเป็นไดอะแกรมง่ายๆ เป็นวงจรของเส้นเลือดแดงจากหัวใจลงมาที่น่อง แล้วก็กลับขึ้นหัวใจทางเส้นเลือดดำ ส่วนกระเพาะปัสสาวะอยู่ตรงกลางระหว่างหัวใจกับน่อง การเต้นของหัวใจ กับการเคลื่อนไหวของน่อง จะเหมือนกับปั๊มสองตัวช่วยกันสูบฉีดน้ำในร่างกาย ถ้าน้ำมากไปก็จะไปปล่อยทิ้งที่กระเพาะปัสสาวะ  

 

เมื่ออายุยังน้อย ปั๊มที่น่องก็ยังแข็งแรงดีอยู่ ยิ่งเป็นเด็ก วิ่งกระโดดโลดเต้น น่องจึงแข็งแรง (เพราะฉะนั้น ถึงจะวิ่งไม่ไหว ก็ขยันเดินกันหน่อยนะครับ) แต่เมื่ออายุมากขึ้น น่องไม่ค่อยได้ทำงาน น้ำจึงมาบวมอยู่ที่ขา ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก พอล้มตัวลงนอนตอนดึก น้ำส่วนเกินนี้จึงค่อยๆกลับมาที่กระเพาะปัสสาวะ จนทำให้ต้องลุกไปฉี่บ่อยๆ  

 

ดังนั้น ในปีนี้ ทางการแพทย์ที่ญี่ปุ่น จึงมีการปรับแก้วิธีการรักษา อาการตื่นมาฉี่บ่อย (nocturia) ซึ่งไม่มีการแก้ไขมาเลยในรอบสิบปี  

 

คุณลุง Ando เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการรักษาวิธีหนึ่งในแผนใหม่นี้ สี่ปีมาแล้วที่เขาต้องตื่นมาฉี่ 4~5 ครั้ง ทุกคืน แถมลำบากที่ต้องปีนบันไดขึ้นลง เพราะห้องน้ำอยู่คนละชั้นกับห้องนอน พลาดพลั้งเกิดตกบันไดขึ้นมาก็ยุ่งอีก ชีวิตช่างน่าหดหู่เสียจริงๆ  

 

การฉี่บ่อย (nocturia) นำไปสู่ ความรู้สึกหดหู่ และกระดูกหัก !? 

 

พูดให้เว่อร์ไปหน่อย ... ความรู้สึกหดหู่ หรือ depression ก็เพราะอดนอน และกระดูกหัก ไม่ใช่เพราะฉี่บ่อยตรงๆ แต่เป็นสาเหตุเกี่ยวเนื่อง โดยเกิดจากการงัวเงียเมื่อตื่นขึ้นมา อาจจะทำให้หกล้ม หรือ ตกบันได  

 

แต่กระดูกหักในกลุ่มผู้สูงอายุนี่เรื่องใหญ่นะ  

 

วันหนึ่ง ลุง Ando ได้รับ “กล่อง” เพื่อการรักษา  

 

หนึ่งเดือนผ่านไป คุณลุงนอนรวดเดียวยันเช้า ไม่ต้องลุกไปฉี่เลย คุณลุง Ando ได้พบ “ทางรอด” แล้ว ที่สามารถจะใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง  

 

“ทางรอด” ในกล่องเล็กๆ ที่ทำให้ชีวิตของลุง Ando เปลี่ยนไปเลยนั้น คืออะไร ? 

 

คุณ Toshida Masaki Assit. Director, ศูนย์ศึกษาผู้สูงอายุ (แห่ง National Center for Geriatric & Gerontology) มาเฉลยว่า ภายในกล่องนั้น คือ "ถุงเท้ารัดน่อง” (compression stockings) 

 

ถ้าสวมมันไว้ตอนกลางวัน จะช่วยทำให้ขาไม่บวม และไม่เก็บน้ำไว้ ทำให้ฉี่ตอนกลางวันมากขึ้น ไม่เก็บไว้ไปฉี่ตอนดึกอีก  

 

นอกจากนั้น ยังมีคำแนะนำง่ายๆอีกอย่าง เป็นวิธีการบำบัดข้อที่สอง ที่คุณหมอได้แนะนำให้ลุง Hayashi ที่เข้าร่วมการทดลองในตอนแรก ลองกลับไปทำดู คือการนอนยกขาให้สูงขึ้นหน่อย ประมาณครึ่งฟุต สักครึ่งชั่วโมงในตอนบ่าย แต่อย่างีบหลับไปนะ เดี๋ยวกลางคืนจะนอนไม่หลับอีก  

 

คุณลุง Hayashi ได้ลองทำดูประมาณหนึ่งเดือน โดยเริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ด้วยการนอนยกขาพาด อ่านหนังสือ หนึ่งเดือนผ่านไป จากการต้องลุกไปฉี่ 3 หนในตอนก่อน ก็เหลือเพียง 1.5 ครั้งโดยเฉลี่ย  

 

การรักษานี้เป็นการบำบัดโดยเปลี่ยนอุปนิสัย (behavior therapy) ดีกว่าการใช้ยา เพราะว่าไม่มีผลข้างเคียง (side effect)  

 

คำแนะนำเพื่อการบำบัดดังกล่าว มี 3 วิธี คือ :- 

 

• สวมถุงน่องแบบรัด   

• ยกขา  

• งดกินเค็ม  

 

การงดกินเค็มที่แถมมาด้วยนั้น เพราะ การกินเค็ม นอกจากจะทำให้ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ร่างกายเก็บน้ำไว้ด้วย  

 

ของแถมอีกอย่างที่บางคนอาจจะเมิน คือ หมอเขาแนะนำให้เลิกการ “กรุ๊บๆ กรั๊บๆ” ในตอนเย็น เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แถมกับแกล้มกินเล่นซึ่งมักจะมีเกลือเยอะ จะช่วยกันเรียกความกระหายให้ร่างกายดื่มน้ำมากขึ้น สังเกตได้ว่าถ้ากินเลี้ยงตอนเย็น คืนนั้นก็จะฉี่มากขึ้น  

 

คำถามว่า สวมถุงรัดน่องด้วย พร้อมกับนอนยกขาด้วย ได้ไหม - Dr. Yoshida บอกว่า ไม่มีปัญหา  

 

แต่สวมถุงรัดน่องไปกินเลี้ยงตอนเย็นนี่คงไม่ช่วยเท่าไหร่นะ  

 

งานนี้ สงสัยจะมีคนขอเลี่ยงบาลีไปดื่มตอนเที่ยงแทน 

 

ส่วนเรื่องถุงรัดน่องนั้น ถ้าไปหาตามร้านขายยา ก็จะมีถึงสามชนิดให้เลือก คือ สูงแค่เข่า ซึ่งสวมง่ายหน่อย ยาวขึ้นมาหน่อยคือสวมทั้งขา และที่ยาวสุดคือ สวมขึ้นมาถึงเอว ชอบแบบไหนก็เลือกได้ตามสะดวกครับ รวมทั้ง น่าจะมีขนาดให้เลือกด้วย และสามารถสวมใส่ได้ทั้งวัน  

 

อย่างไรก็ตาม คุณหมอมีคำเตือนสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจหรือเบาหวานว่า ให้ปรึกษาหมอหน่อยก็ดีนะ เรื่องที่จะหาอะไรมารัดน่องนี่น่ะ  

 

ที่ง่ายคือการนอน (อย่าหลับ) ยกขาขึ้นมาพาดอะไรที่สูงหน่อยในตอนบ่ายนั้น ก็ต้องบริหารเรื่องเวลาเหมือนกัน ไม่เร็วไป (เพิ่งผ่านเวลาเช้ามาหยกๆ) หรือช้าไป (จะเข้านอนอยู่แล้ว) เพราะจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรทั้งคู่  

 

เวลาแดดร่มลมตก นึกถึงเปลญวนขึ้นมาทีเดียว เพราะเป็นเปลที่ขาถูกยกขึ้นมา ไม่ได้นอนราบๆ  

 

แต่ไม่มีเปลญวนก็ไม่เป็นไร หาอะไรหนุนขาเอาก็ได้  

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ ผมเลยได้ไอเดีย ที่ทำให้ชีวิตสบายขึ้นเยอะ เพราะว่า ... 

 

แทนที่จะนั่งเขียนบทความ บ่ายวันนี้ ผมนอนยกขาเขียนครับ !!  

 

... @_@ ...  

วัชระ นูมหันต์  

20 ธันวา 63 

 

Ending Nighttime Urination | Gatten! • NHK 

 

-- 

Sent from Fast notepad

Visitors: 179,609