Perfusion Index PI บน Pulse Oximeter คืออะไร มีไว้ใช้ทำอะไร

pในปัจจุบันมีการนำเอาอุปกรณ์ที่เรียกว่า pulse oximeter มาใช้ในการตรวจวิเคราะห์ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง (oxygen saturation หรือ SaO2) ซึ่งอาศัยหลักการของการดูดซับคลื่นแสง infrared ของเนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลผ่านบริเวณอวัยวะที่เราทำการตรวจวัด (โดยมากเป็นที่นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือที่ติ่งหู) ทำให้เราสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับอัตราของชีพจร และความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงของผู้ป่วยได้ และไม่นานมานี้ก็ได้มีการเพิ่มเติมเอาความสามารถใหม่เข้าไปในอุปกรณ์นี้ด้วย ความสามารถที่ว่านี้ก็คือ การวัดค่า perfusion index (PI)
ค่า perfusion index (PI) บนเครื่อง pulse oximeter ซึ่งมีหน่วยเป็น %
เนื่องจากการตรวจวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง (SpO2) นั้น จะต้องวัดจากเลือดที่ไหลเวียนในเส้นเลือดผ่านบริเวณที่เราติดอุปกรณ์ในการตรวจ ดังนั้น หากอวัยวะในบริเวณนั้น มีการไหลเวียนที่ไม่สม่ำเสมอ หรือลดลงจากสาเหตุใด ๆ ก็จะมีผลทำให้ค่า SaO2 มีค่าที่คลาดเคลื่อนไปได้ด้วย เช่น
มีหลอดเลือดแดงตีบ หรือหลอดเลือดหดตัวแคบลงเนื่องจากอากาศเย็น หรือมีการใช้ยาที่ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว (vasoconstrictor agents) หรือโรคอื่น ๆ ของหลอดเลือด เช่น atherosclerosis, Buerger’s disease, Raynaud’s disease เป็นต้น
การไหลเวียนเลือดในร่างกายโดยรวมลดลง เช่นในระหว่างที่มีภาวะช็อค
บริเวณที่ทำการตรวจมีการเคลื่อนไหวบ่อย หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
ดังนั้น จึงมีการตรวจสอบการไหลเวียนของเลือดในบริเวณนั้นควบคู่กันไปในขณะที่วัด SpO2 โดยอาศัยความแรงของชีพจรเข้ามาช่วย โดยเครื่องจะทำการวัดปริมาณแสง infrared ที่ทะลุผ่านอวัยวะส่วนที่วัดออกมา 2 ช่วงคือ ช่วงที่มีชีพจร (pulsatile signal) กับช่วงที่ไม่มีชีพจร (nonpulsatile signal) แล้วนำเอาความแตกต่างระหว่าง 2 ค่านี้มาคำนวณเป็นร้อยละ คือ
Perfusion index (%) = (Nonpulsatile signal - pulsatile signal)/ Nonpulsatile signal x 100 
หลักการในการวัดและคำนวณ Perfusion index (สังเกตว่า ช่วงที่เป็น Nonpulsatile signal จะมีปริมาณ infrared ที่ตรวจวัดได้ที่จุดวัดมากกว่าในช่วง pulsatile เนื่องจากในช่วงที่มีเลือดไหลผ่าน เลือดเหล่านั้นจะดูดซับเอา infrared ไปได้มากขึ้น ทำให้ infrared ส่วนที่เหลือที่จะผ่านไปถึงจุดวัดลดลงจากเดิม) Credit ภาพจาก www.ubi-x.co.jp
โดยทั่วไปแล้วค่า PI นี้อาจจะมีค่าได้ตั้งแต่ 0.02% ไปจนถึง 20% ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับค่าที่กำหนดมาโดยผู้ผลิตเครื่อง pulse oxymeter แต่ละรุ่นด้วย
หากในระหว่างที่ทำการวัด SaO2 มีสัญญาณชีพจร หรือเลือดไหลเวียนผ่านบริเวณนั้นลดลง ค่าความแตกต่างของ non-pulsatile และ pulsatile signal จะลดลง (ภาพซ้าย) จะทำให้ค่า PI น้อยลงด้วย และหากชีพจรมีความแรงมาก จะมีค่าความแตกต่างนี้มาก และมีค่า PI มากขึ้นด้วย (ภาพขวา) โดยทั่วไปแล้ว หากค่า PD >4% ก็ถือว่าบริเวณดังกล่าวมีการไหลเวียนของเลือดมากเพียงพอ
ค่า PI นี้นำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดได้บ้าง?
 ประโยชน์หลักเบื้องต้นประการแรกก็คือ สามารถใช้ตรวจสอบความแม่นยำของค่า SpO2 ที่เราวัดได้ในขณะนั้นว่า มีความน่าเชื่อถือเพียงใด โดยหากค่า SpO2 ที่เราวัดได้ในขณะนั้น เป็นค่าที่วัดในขณะที่มีค่า PI สูง (สัญญาณชีพจรแรง) ก็จะมีความน่าเชื่อถือได้มาก ในขณะที่หาก SpO2 วัดได้ในขณะที่มีค่า PI ต่ำ ค่าที่ได้อาจไม่ใช่ค่าจริง 
ในปัจจุบันมีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้ค่า PI นี้ในการติดตามดูลักษณะการไหลเวียนเลือด (peripheral perfusion monitor) ของผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มักมีการไหลเลือดในร่างกายโดยรวมลดลงดังกล่าวข้างต้น และจากผลการศึกษาเบื้องต้นก็พบว่า น่าจะสามารถนำไปใช้ในการติดตามผู้ป่วยได้ ดังนั้นในอนาคตเราอาจจะได้เห็นมีการนำเอาค่านี้มาใช้ในการประเมินผู้ป่วยทางคลินิกมากขึ้นก็ได้
Ref.
1.
Lima AP, Beelen P, Bakker J. Use of Peripheral Perfusion Index Derived From the Pulse Oximetry Signal as a Noninvasive Indicator of Perfusion. Crit Care Med. 2002 Jun;30(6):1210-3.
Visitors: 183,913