ททท.ยกระดับสินค้า “เฮลท์ แอนด์ เวลเนส” ดันไทยฮับสุขภาพโลก
ททท.ตั้งธงเร่งยกระดับสินค้าท่องเที่ยว “เฮลท์ แอนด์ เวลเนส” รับเทรนด์ใหม่ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ภายหลังกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง หวังตอกย้ำไทยเป็นฮับท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพระดับโลก
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าโควิด-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผลการสำรวจและข้อมูลวิจัยมากมายคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะยิ่งเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับประเทศไทยที่มีสินค้าบริการในระบบเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ Wellness Economy ที่หลากหลาย ทั้งโรงแรม รีสอร์ตเพื่อสุขภาพ สปา น้ำพุร้อน น้ำแร่ ร้านอาหารสุขภาพ ศูนย์ลดน้ำหนัก ศูนย์ความงาม การชะลอวัย การแพทย์เชิงป้องกัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และล่าสุด กัญชา กัญชง กระท่อม ที่ประเทศไทยเปิดให้บริการเพื่อรักษาและเพื่อส่งเสริมสุขภาพ
ขณะที่เดสทิเนชันซึ่งให้บริการด้าน Health and Wellness ในประเทศไทยมีความหลากหลาย นักท่องเที่ยวสามารถเลือกโปรแกรมได้ตามสไตล์ความชอบของตัวเอง หากชอบชีวิตในเมืองแบบซิตีไลฟ์ สามารถเลือกบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา หากชอบทะเล สามารถเดินทางไปที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เกาะช้าง หากไม่ต้องการเดินทางไกล ทะเลใกล้กรุงเทพฯ ก็มีให้เลือกอย่างชะอำ หัวหิน หรือหากชอบป่าเขา ให้ขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ เชียงราย หรือใกล้ๆ ก็มีอย่างเขาใหญ่
เปิด 4 เทรนด์ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
อีกทั้งจากการติดตามเทรนด์ตลาดสินค้าบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพทั่วโลก เห็นได้ชัดเจนว่ารูปแบบและแนวคิดของสินค้าบริการเปลี่ยนไปมากมาย พฤติกรรมความสนใจของนักท่องเที่ยวยุคใหม่มีความต้องการเชิงลึกที่หลากหลาย ได้แก่
- เทรนด์ Sustainable wellness holiday การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่เน้นความยั่งยืน เวลเนสทัวริสต์ยุคนี้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น เลือกพักรีสอร์ตสุขภาพที่เป็น Eco-friendly hotels เลือกทำกิจกรรมที่รักษ์โลก เลือกกินอาหารจากวัตถุดิบในพื้นที่เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน
- เทรนด์ Beyond wellness โปรแกรมเวลเนสที่ผสานรวมกับกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจ เช่น โปรแกรม Cultural Wellness Holiday ของอิตาลี มีทัวร์ไร่ไวน์ ขี่จักรยานชมมิวเซียมอาณาจักรโรมัน ปิดท้ายด้วยการทำทรีตเมนต์สปา และดีท็อกซ์ในรีสอร์ตหรู
- เทรนด์ Food & Herbal Immune booster ชูอาหารและสมุนไพรพื้นถิ่นที่มีสรรพคุณทางยา เช่น สปาหรูในเกาหลีใต้ นำเสนอทรีตเมนต์ด้วยโสมแดงแท้และซุปไก่ตุ๋นโสมเกาหลี ชูจุดขายเพิ่มภูมิคุ้มกัน Immune booster ซึ่งเป็น keyword สุขภาพของโลกยุคหลังโควิด ที่ทุกคนมองหาการเสริมภูมิ
- เทรนด์ Science Based Wellness โปรแกรมเวลเนส ที่อ้างอิงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รับรอง เช่น รีสอร์ตสปา ริมทะเลในอเมริกา นำเสนอโปรแกรม Ocean therapy คือการบำบัดโดยการโต้คลื่น (surf) ในทะเล ซึ่งมีผลการวิจัยของนักจิตวิทยาชื่อดัง Mihaly Csikszentmihalyi พบว่าสามารถบำบัดอาการซึมเศร้าได้
รุกเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ
ประเทศไทยมีสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวตลาดความสนใจพิเศษยุคใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการเชิงลึกที่หลากหลายได้ทุกเทรนด์ ซึ่งในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ททท. จะใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการสุขภาพ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์รูปแบบของสินค้าบริการ และกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่มีอยู่เดิมให้มีความแปลกใหม่ ตรงตามกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนไปในยุคโควิด-19
อีกทั้งผสานจุดแข็งของเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม Wellness ในพื้นที่ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของเวลเนสทัวริสต์ยุคนี้ ตลอดจนการพัฒนาความพร้อมของผู้ประกอบการและบุคลากรด้านท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายร่วมกัน คือ การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index : GHS) อันดับที่ 5 ของโลก จาก 195 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย จากการประเมินความพร้อมของประเทศในการรับมือการแพร่ระบาดโรคติดต่อปี 2564 โดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ไทยได้ยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ชูภาพลักษณ์อันดีในการเป็นศูนย์กลาง Medical Hub นำเสนอศักยภาพความพร้อมด้านการสาธารณสุขของการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในเรื่องนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ประเทศไทยได้หมายมั่นปั้นมือสู่การชิงตำแหน่งผู้นำในภูมิภาคนี้